วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

งานวิจัย

การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน
เพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3         The Development of a Curriculum Emphasizing on Project-based Learning Process to Enhance English Language Skills for Mattayom Suksa 3 Students

ชนินทร์ ยาระณะ (Chanin Yarana)*
อารีรักษ์ มีแจ้ง (Areerug Mejang)**
วารีรัตน์ แก้วอุไร (Warerat Kaewurai)***
อมรรัตน์ วัฒนาธร (Amornrat Wattanatorn)****

บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นของครูและนักเรียนสำหรับนำมาสร้างหลักสูตร (2) สร้างและตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร (3) ทดลองและศึกษาผลการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการทำโครงงาน และเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษ และ (4) ประเมินความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร    
             วิธีการวิจัยดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)  มี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาหลักสูตรเป็นการศึกษาความต้องการจำเป็นของหลักสูตรจากครูและนักเรียนโดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม ขั้นตอนที่ 2 สร้างเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร ตรวจสอบความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญ  3 คน ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้หลักสูตรกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 22 คน แบบแผนการวิจัยใช้การทดลองแบบกลุ่มเดียวสอบก่อนและหลังการทดลอง เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แบบวัดทักษะทางภาษาอังกฤษ แบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน และแบบสอบถามเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบที (t-test dependent) และ ขั้นตอนที่ 4 ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมตามหลักสูตร เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แบบประเมินความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

---------------------------------------------------
* นิสิตปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยนเรศวร
**ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
***รองศาสตราจารย์ ดร.ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
****อาจารย์ ดร.ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร



ผลการวิจัย
1.       ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็น ประกอบด้วยแนวทางการสร้างหลักสูตร ขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานได้แก่ กำหนดหัวเรื่อง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ วางแผนการดำเนินงาน ดำเนินการตามแผน สร้างชิ้นงาน/ผลงาน นำเสนอ และประเมินผล   แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการทำโครงงาน การกำหนดชิ้นงานหรือภาระงานแสดงความสามารถทางภาษา และแนวทางการประเมินโครงงาน
2.       หลักสูตรที่สร้างขึ้นมีองค์ประกอบสำคัญคือ หลักการและโครงสร้างการจัดหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานซึ่งนักเรียนเลือกหัวเรื่องตามความถนัดและความสนใจ เอกสารประกอบหลักสูตรเน้นแผนการกิจกรรมการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษไปพร้อมๆกับกระบวนการทำโครงงาน ผลการตรวจหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีความเหมาะสมในระดับมาก
3.       ผลการทดลองใช้หลักสูตร พบว่า
1.1.   นักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อจำแนกทักษะภาษาอังกฤษเป็นทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน พบว่านักเรียนมีนะูตรและเอกสารหลักสูตรงงานที่ทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน่าหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
1.2.   นักเรียนมีทักษะกระบวนการทำโครงงานภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดี
1.3.   นักเรียนมีเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในระดับมาก
4.       ความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรอยู่ในระดับมาก

คำสำคัญ : การพัฒนาหลักสูตร  โครงงานภาษาอังกฤษ ทักษะภาษาอังกฤษ


ABSTRACT

           This research purposes were:  (1) to explore the basic data and the needs of teachers and students for curriculum development (2) to construct  the  curriculum and study its quality (3) to experiment the curriculum and study students’ language skills, project work process skills and students’ attitude toward English learning and (4) to evaluate the satisfaction of students towards the learning activities of the curriculum.
          The research procedure comprised four steps of research and development processes.  Firstly, exploring the basic data for curriculum and needs assessments  from the teachers and students by using focus group technique. Secondly, constructing the curriculum documents and curriculum supplementary documents which were inspected by 3 experts in order to consider the appropriateness. Thirdly, experimenting the curriculum with 22 Mattayom Suksa 3 students at  Sanpatongwittayakom school in the second semester of 2010 academic year by  using one group pretest - posttest design.  The research instruments were an English achievement test, a project work skills evaluation form and questionnaires on English studying. The data was analyzed by Mean, Standard Deviation, and   t-test dependent.  Fourthly, studying the satisfaction of students toward the learning activities of the curriculum, the questionnaire was used to gather the satisfaction information.  The data was analyzed by Mean and Standard Deviation.
         The findings of this study were as follows:
1)    The basic data study and needs assessment for curriculum development concluded how to construct  the curriculum, the steps of English project work which were selecting topic, setting goals, planning and doing project, producing language products, presenting and evaluating, how to provide the learning activities, task and language outcomes or language performance and how to evaluate the project products.
2)    The curriculum essential components are principles and curriculum structures emphasized project based learning process which students chose the topics according to their aptitudes and interests. The result of the curriculum appropriateness inspection by experts are at high level.
3)    The experiment findings were ;
3.1   The average scores of students’ English skills after learning through the curriculum  were higher than before learning through the curriculum at the .01 level of significance and all separated average scores of listening, speaking, reading and writing skills after learning through the curriculum were higher than before learning through the curriculum at the .01 of significance.
3.2    Students’ English project work process skills were at a good level.
3.3    Students’ attitude toward English learning after learning through the curriculum  was at a high level.
4)        Students’ satisfaction toward the learning activities of the curriculum was at a high level.


Keywords:  Curriculum Development, English Project Work, English Skills




บทนำ

              ในสังคมโลกปัจจุบันภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาสากลที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ในด้านเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรม ธุรกิจ การค้า การทูต การบันเทิง วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อการสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิสัยทัศน์ของชุมชนและโลกทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและความกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรม จำเป็นต่อการใช้ชีวิตร่วมกันของพลโลก และผู้ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษสามารถเลือกสรรและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาการจัดการสอนภาษาอังกฤษยังคงเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีอย่างที่หลักสูตรกำหนดไว้ การวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการพบว่านักเรียนไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารและการค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในยุคสารสนเทศ และจากผลการสอบวัดคุณภาพการศึกษาระดับชาติ พบว่า มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในวิชาภาษาอังกฤษต่ำ สำหรับภาพรวมในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับสถานศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏว่าในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ค่าเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน   สาเหตุของปัญหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย ได้แก่การเรียนของนักเรียนเป็นการเรียนโดยผ่านการสอนในชั้นเรียนเป็นส่วนใหญ่  สภาพสังคมทำให้นักเรียนโดยเฉพาะในสังคมชนบทมีโอกาสน้อยที่จะใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ครูยังเป็นผู้มีบทบาทในการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้ภาษา และในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนนักเรียนมีโอกาสฝึกทักษะทั้งสี่ทางภาษา ได้แก่ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน อย่างเป็นธรรมชาติน้อย  แนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แนวทางหนึ่งคือ การจัดการเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐาน( Project-based Learning ) ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง นักเรียนเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถนำภาษาไปใช้ได้ตามศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ กระบวนการดังกล่าวมีหลักและวิธีดำเนินงานอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน มีการวางแผน ลงมือปฏิบัติ นำเสนอผล ปรับปรุงแก้ไข   เพื่อการวางแผนในการทำงานครั้งต่อไปอย่างเป็นระบบ  ผู้เรียนสามารถเห็นความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่กับวิชาการที่จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้   และกิจกรรมโครงงานยังเป็นกิจกรรมที่เน้นการสร้างความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนโดยการบูรณาการความรู้ต่างๆที่เอื้อต่อกัน และส่งเสริมการร่วมคิด ร่วมทำ สร้างความตระหนัก และก่อให้เกิดทักษะอย่างหลากหลายไปพร้อมๆกับการเรียนรู้เนื้อหา สำหรับวิชาภาษาอังกฤษ โครงงานเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะสามารถเอื้ออำนวยให้นักเรียนได้ลงมือ ออกแบบ ทดลอง ขัดเกลา และสร้างผลงานบางอย่างขึ้นมาเมื่อนักเรียนทำโครงงานเสร็จสมบูรณ์ไปพร้อมๆกับการพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ 
             นอกจากกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐานแล้ว การพัฒนาหลักสูตร มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน ในปัจจุบันโดยมีความเชื่อว่า วิชาความรู้ต่างๆไม่อาจจะแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แต่ละวิชามีลักษณะบูรณาการเข้าด้วยกัน หรือใช้ความรู้ร่วมกัน  และหลักสูตรจะเป็นตัวจักรสำคัญในการชี้นำให้เกิดการบูรณาการ (Pratt, 1994, pp.179 -181)  เหตุผลสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมีการบูรณาการก็คือ ในโลกการทำงาน สมัยใหม่ ความสามารถเพียงแต่ใช้การจดจำหรือรู้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่มนุษย์จำเป็นต้องรู้สิ่งต่างๆที่เขาต้องสาธิต หรือลงมือทำสิ่งนั้นๆได้ สิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยี และการใช้ข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องแคล่วในการทำงานเพื่อการแก้ปัญหาทั้งในลักษณะที่เป็นกลุ่มและรายบุคคล  นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มสำคัญทางการศึกษาคือการทำหลักสูตรที่ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหามากมายเกินไป แต่เน้นความจำเป็นที่ต้องจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตในการคิดและการมีส่วนร่วม  โรงเรียนจึงต้องจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้มาตรฐานการเรียนรู้ (Standard-based Learning) เป็นตัวกำหนด กระแสดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างหลักสูตรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตจริงในสังคมขึ้น ซึ่งทำหน้าที่เป็นหนทางสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน (Henson, 2001, p.198)
              การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานมีความสัมพันธ์กับการบูรณาการทั้งในด้านเนื้อหา และกระบวนการเรียนรู้ การนำกระบวนการบูรณาการมาใช้กับการจัดการเรียนรู้โดยโครงงานจะเพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการทำโครงงานของนักเรียนให้เป็นโครงงานที่มีความหมาย สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน ตลอดจนสนองต่อความถนัดและสนใจของนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในหลากหลายสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน ภายใต้สภาพแวดล้อมหรือบริบทของผู้เรียนนั้นๆ  ครูสามารถเชื่อมโยงขอบข่ายเนื้อหาและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ และทักษะได้ (Lake, 2006, p.2 )  โดยเหตุผลดังกล่าวมา ผู้วิจัยจึงพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีลักษณะ เป็นรายวิชาเพิ่มเติมตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยจัดกระบวนการการเรียนรู้แบบบูรณาการกับกระบวนการทำโครงงาน จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียน โดยเชื่อมโยงความสามารถ ความถนัดและความสนใจที่นักเรียนมีอยู่ให้สอดคล้องกับชีวิตจริงของนักเรียน พัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน  

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
            มีวัตถุประสงค์ทั่วไปในการวิจัยครั้งนี้ คือเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีวัตถุประสงค์เฉพาะคือ
1.       เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นของครูและนักเรียนสำหรับนำมาสร้างหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2.       เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3.       เพื่อทดลองและศึกษาผลการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการทำโครงงาน และเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
4.       เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

วิธีดำเนินการวิจัย
       วิธีการวิจัยดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)ดังมีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้
       ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นสำหรับการพัฒนาหลักสูตร
                    ผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลสำคัญ 3 ประการคือ 1) ศึกษาเอกสาร 2) ดำเนินการสนทนากลุ่มครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของครูสำหรับเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโครงงาน  และ 3) ดำเนินการสนทนากลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 9 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการของนักเรียนเพื่อนำมาพัฒนาหลักสูตร นำข้อมูลสรุปเพื่อใช้ประกอบการสร้างหลักสูตร

       ขั้นตอนที่ 2  การสร้างและตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร
                  ผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้างเอกสารหลักสูตร  และ เอกสารประกอบหลักสูตรซึ่งเป็นคู่มือการใช้หลักสูตรประกอบด้วย ข้อแนะนำการนำหลักสูตรไปใช้  แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  โดยการดำเนินการดังนี้
                  1. การยกร่างหลักสูตรดำเนินการ 12 ขั้นตอน ได้แก่  ขั้นตอนที่  1  ยกร่างคำชี้แจงเหตุผล และความจำเป็น และกำหนดหลักการหลักสูตรบูรณาการให้ความสอดคล้องกับจุดหมายการศึกษาในระดับชาติและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ขั้นตอนที่ 2 นำผลการสังเคราะห์ความต้องการจำเป็นซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสนทนากลุ่มของครูและนักเรียนมาประกอบในการยกร่างหลักสูตร  ขั้นตอนที่ 3  กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร  ขั้นตอนที่ 4 กำหนดผลการเรียนรู้ คำอธิบายรายวิชา และแนวการจัดการเรียนรู้โดยกว้างๆที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย และหลักการของหลักสูตร ตลอดจนวิเคราะห์ความสอดคล้องของผลการเรียนรู้กับมาตรฐานหลักสูตรและตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ขั้นตอนที่ 5  จัดโครงสร้างหลักสูตรให้เหมาะสมกับการนำไปใช้  ขั้นตอนที่ 6 กำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนประจำหน่วย  ขั้นตอนที่  7 กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้งที่ทำการสอน หรือแต่ละหน่วยเรียน และแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ขั้นตอนที่ 8 เลือกยุทธศาสตร์การสอน สำหรับใช้กับนักเรียนที่มีความถนัดและความสนใจแตกต่างกัน  ขั้นตอนที่ 9 เลือกเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิธีการการประเมินให้เหมาะสมกับนักเรียน เนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้ เป็นการกำหนดในแต่ละแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม กับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และแต่ละบุคคล ขั้นตอนที่ 10 นำเอายุทธศาสตร์การสอนที่เหมาะสมลงสู่การปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้  ขั้นตอนที่ 11 กำหนดแนวทางการประเมินการสอนของครู เป็นการประเมินครูในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน และ ขั้นตอนที่ 12 กำหนดแนวทางการประเมินหลักสูตร โดยการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ  
                  2.  การสร้างแบบประเมินเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรซึ่งประกอบด้วยแบบประเมิน 2 ตอนได้แก่  ตอนที่ 1 ประเมินความเหมาะสมขององค์ประกอบหลักสูตร และแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และตอนที่ 2 ประเมินเอกสารประกอบหลักสูตรได้แก่ประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ/แหล่งเรียนรู้ และเครื่องมือการวัดผลประเมินผลในแต่ละแผน ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5  ระดับ คือความเหมาะสมมากที่สุด มาก ปานกลาง ไม่เหมาะสม และไม่เหมาะสมมากที่สุด และแบบคำถามปลายเปิดในแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตร  การวิเคราะห์ผลดำเนินการโดยหาค่าเฉลี่ยในแต่ละองค์ประกอบและสรุปประเด็นจากการตอบคำถามปลายเปิด 
                 3.  การประเมินเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอนภาษาอังกฤษ จำนวน 3 คน

       ขั้นตอนที่ 3 การสร้างเครื่องมือการวิจัยและการทดลองใช้หลักสูตร
                  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาทดลอง ได้แก่  แบบวัดทักษะภาษาอังกฤษ แบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน   แบบสอบถามเจตคติของนักเรียนต่อการเรียนภาษาอังกฤษด้วยกระบวนการทำโครงงาน และ แบบสอบถามความความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
                 1. การสร้างแบบวัดทักษะภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย  แบบทดสอบการฟัง แบบทดสอบการอ่าน  แบบทดสอบการเขียน และแบบทดสอบการพูด มีขั้นตอนและวิธีสร้างแบบวัดทักษะภาษาอังกฤษ ได้แก่ ศึกษาหลักสูตร คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เอกสาร ตำราที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแบบทดสอบ  นำผลการสนทนากลุ่มจากขั้นตอนที่ 1 ของการวิจัยจากกลุ่มคือ มาตรฐาน/ตัวชี้วัด/เนื้อหา/ทักษะภาษาอังกฤษที่ครูเห็นว่าควรพัฒนา มาประกอบการกำหนดผลการเรียนรู้ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้บูรณาการมาเป็นแนวทางในการสร้างแบบทดสอบ กำหนดโครงสร้างของเนื้อหาที่จะทำการวัดผลและประเมินผล จำแนกตามขอบข่ายเนื้อหา กำหนดรายการเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ สำหรับรายการเนื้อหากำหนดเป็น ด้าน lexicon, grammar และ functions ในแต่ละทักษะ และกำหนดน้ำหนักทักษะที่ต้องการวัดตลอดจนหน่วยน้ำหนักของการประเมิน ครอบคลุมทักษะทั้งสี่ทางภาษาอังกฤษ สร้างข้อสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษทั้ง 4 ทักษะ นำข้อทดสอบที่สร้างได้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอนและวัดผลประเมินผล จำนวน 3 คน ประเมินความสอดคล้องระหว่างข้อทดสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ และประเมินความเหมาะสมและความถูกต้องของการใช้คำถามและการกำหนดระดับมิติคุณภาพ (Rubric)  และ ผู้วิจัยดำเนินการปรับปรุงข้อทดสอบแล้วจึงนำข้อทดสอบที่ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มนักเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน จำนวน 30 คนเพื่อวิเคราะห์ข้อทดสอบโดยการหาค่ายากง่าย (P)  และค่าอำนาจจำแนก (r) ของข้อทดสอบเป็นรายข้อ  และหาค่าความเที่ยงของแบบทดสอบทั้ง 4 ฉบับ
                 2.  การสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน ซึ่งเป็นแบบประเมินที่ใช้มาตรวัดการให้คะแนนตามระดับคุณภาพ 4 ระดับได้แก่ ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง ประกอบด้วยเกณฑ์และ ระดับพฤติกรรมที่ครอบคลุมการประเมิน ได้แก่ความสามารถในการวางแผนการทำโครงงาน กระบวนการทำงานและการฝึกฝนทักษะทางภาษา  คุณภาพของผลงานหรือชิ้นงานตามโครงงาน  และการนำเสนอโครงงาน มีขั้นตอนการสร้างแบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงานได้แก่ กำหนดประเด็นย่อยสำหรับเกณฑ์การประเมิน  เขียนระดับคุณภาพพฤติกรรมของเกณฑ์แต่ละข้อ  สร้างแบบประเมิน  ตรวจสอบความถูกต้องโดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และตรวจสอบความเหมาะสมของแบบประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอน และวัดผลประเมินผล จำนวน 3 คน วิเคราะห์ผลการประเมินโดยการหาค่าเฉลี่ย
                 3.  การสร้างแบบสอบถามเจตคตินักเรียนต่อการเรียน ซึ่งเป็นแบบประเมินความคิดเห็น  จำแนกเป็น 5  ระดับ ได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด มีขั้นตอนการดำเนินการสร้าง ได้แก่  ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง  กำหนดวัตถุประสงค์ของการวัด  กำหนดประเด็นหลักเนื้อหาได้แก่ สอบถามความรู้สึกเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษ เนื้อหาสาระ ความถนัดและความสนใจที่นำมาบูรณาการ วิธีการเรียนรู้ วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดผล ความชอบหรือไม่ชอบในการเรียนแบบโครงงาน เป็นต้น ตรวจสอบความถูกต้องโดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์  และดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสมของแบบสอบถามโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอนและวัดผลประเมินผล จำนวน 3 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย
                 4. การสร้างแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรเป็นแบบสอบถามจำแนกความคิดเห็น  5  ระดับได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด มีขั้นตอนการดำเนินการสร้าง ได้แก่ ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง  กำหนดวัตถุประสงค์ของการสอบถาม  กำหนดประเด็นหลักเนื้อหาในการสอบถาม   ตรวจสอบความถูกต้องของแบบสอบถามโดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์   ดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสมของแบบสอบถามโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอน และวัดผลประเมินผลจำนวน  3 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย
                 5. การดำเนินการทดลอง  แหล่งข้อมูลเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 ที่เลือกเรียนรายวิชาตามหลักสูตรนี้จำนวน 22 คน ผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการสอนตามหลักสูตรด้วยตนเอง  แบบแผนการทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้แบบแผนการทดลอง One-Group Pretest-Posttest Design มีขั้นตอนการทดลองดังต่อไปนี้คือ 1) นักเรียนลงทะเบียนเรียนวิชาเพิ่มเติมซึ่งเป็นไปตามหลักสูตรสถานศึกษาตามปกติของโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม   2) ทำการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษก่อนเรียนโดยใช้แบบทดสอบที่สร้างได้แก่ ด้านการฟัง-พูด และการอ่าน-เขียน 3) ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ 4)ทดสอบหลังเรียนโดยใช้แบบทดสอบและแบบประเมินฉบับเดียวกับการทดสอบและการประเมินก่อนเรียน และนอกจากนี้ประเมินผลด้านอื่นๆ ได้แก่  ด้านทักษะกระบวนการทำโครงงาน โดยแบบประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน  และ ด้านเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษ โดยแบบสอบถามเจตคติ  สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการทดสอบความแตกต่างของคะแนนนักเรียนที่ได้จากคะแนนการสอบก่อนและหลังการใช้หลักสูตร โดยใช้สถิติ t-test แบบ Dependent  วิเคราะห์ผลการประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน โดยการสรุประดับคุณภาพของนักเรียนในประเด็นการประเมินและภาพรวม  วิเคราะห์ข้อมูลจากการแบบสอบถามเจตคติของนักเรียนที่มีต่อวิชาภาษาอังกฤษและการเรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยการหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
       ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลการใช้หลักสูตร
                  เป็นการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร  แหล่งข้อมูลเป็นนักเรียนที่เรียนโดยหลักสูตรฉบับนี้ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553  จำนวน 22 คน ลักษณะของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อสอบถามความพึงพอใจต่อกิจกรรม ผลงาน และความสามารถของนักเรียนที่ผ่านการเรียนรู้ตามหลักสูตร มีมาตราส่วนประมาณค่า 5  ระดับ ได้แก่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด สอบถามประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ ผลงาน เนื้อหาและทักษะที่ได้พัฒนาจากกิจกรรมที่ได้ร่วมดำเนินการ เพื่อนร่วมงานในกลุ่ม ครู และบรรยากาศในการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน  นำผลมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงปริมาณยืนยันความพึงพอใจต่อกิจกรรมตามหลักสูตร และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่เน้นกระบวนการทำโครงงาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

สรุปผลการวิจัย
               1.  ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการจำเป็นสำหรับการพัฒนาหลักสูตร ได้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการ จุดหมาย มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน ได้แก่ การกำหนดหัวเรื่อง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทักษะภาษา กำหนดชิ้นงานหรือภาระงานแสดงความสามารถทางภาษา การวางแผน การดำเนินการตามแผน และการประเมินผลโครงงานและความสามารถทางภาษาของนักเรียน  วิธีการบูรณาการของนักเรียนซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนนำความรู้ เนื้อหาสาระ กระบวนการ และเจตคติ จากหลากหลายสาขาวิชาตามประสบการณ์ความถนัดและความสนใจ เชื่อมโยงผสมผสานเข้ากับเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ เป็นการบูรณาการความรู้ความสามารถภายในตัวผู้เรียนและระหว่างกลุ่มผู้เรียนที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง โดยครูมีบทบาทร่วมกันนักเรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มครูและนักเรียนได้แนวทางการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโครงงาน  เนื้อเรื่อง หรือสาระการเรียนรู้ที่ครูเห็นว่าควรจัดให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ หรือบูรณาการกับบทเรียนภาษาอังกฤษ และหัวเรื่องที่นักเรียนสนใจ
               2.   ผลการสร้างหลักสูตร
                      2.1  หลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีหลักการของหลักสูตรที่สำคัญคือ เป็นรายวิชาเพิ่มเติมตามหลักสูตรสถานศึกษา นักเรียนสามารถเลือกเรียนนอกเหนือจากรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานซึ่งเป็นวิชาบังคับ ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษตามระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน จากการเชื่อมโยงความสามารถด้านต่างๆที่มีในตัวนักเรียนมาก่อน และหลักสูตรมีความยืดหยุ่นด้านเนื้อหาสาระ ความยากง่าย สนองความแตกต่างของนักเรียนด้านความสามารถทางภาษาอังกฤษและความสนใจในเนื้อหาที่ต้องการเรียนรู้  จุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้แก่ 1) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนที่บูรณาการกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน 2) เพื่อให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษและ 3) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการในการทำโครงงาน โครงสร้างหลักสูตร กำหนดเวลาเรียน 40 คาบต่อ 1 ภาคเรียน เวลาเรียนสัปดาห์ละ 2 คาบ (คาบละ 60 นาที) จำนวนหน่วยกิต 1.0 หน่วยกิต กำหนดให้มีหน่วยเรียนจำนวน 6 หน่วยเรียนได้แก่ Unit 1 Overview what project is Unit 2 Selecting topic Unit 3 Writing a project outline Unit 4 Presenting a project outline Unit 5 Carrying out a project และ Unit 6 Project Work Presentation. กิจกรรมการเรียนรู้ดำเนินการทั้งในและนอกห้องเรียน ขั้นตอนการจัดทำโครงงานได้แก่ การกำหนดหัวเรื่อง การกำหนดเป้าหมายทางภาษาที่ต้องการพัฒนา กำหนดชิ้นงาน วางแผนการดำเนินงาน ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการสร้างชิ้นงาน ผลิตชิ้นงาน นำเสนอชิ้นงาน จัดนิทรรศการโครงงานและ เขียนรายงานโครงงาน  ในกิจกรรมการเรียนรู้เน้นการจัดให้นักเรียนได้บูรณาการความสามารถ และความสนใจที่มีอยู่ในตัวนักเรียนแต่ละคนมาบูรณาการเข้ากับหัวเรื่อง ชิ้นงานที่นักเรียนร่วมกันคิด เพื่อให้เกิดพัฒนาการทักษะทางภาษา  กำหนดแนวทางการวัดและประเมินผลแต่ละหน่วย ได้แก่ ทดสอบความเข้าใจความหมาย ขั้นตอนการจัดทำและวิธีการประเมินโครงงาน  ทดสอบความสามารถด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษ   ประเมินการจัดกลุ่มของนักเรียนเพื่อการทำโครงงานประเมินการเลือกและการเขียนหัวเรื่องหลักและหัวเรื่อง ประเมินการเขียนวางแผนการทำโครงงาน  ประเมินการพูดนำเสนอการวางแผนการทำโครงงาน  ประเมินบันทึกการเก็บข้อมูล  ประเมินวิธีการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ ความตรงต่อเวลา  ความพยายามในการทำงาน ความสามัคคี และการฝึกฝนทักษะทางภาษาอังกฤษระหว่างการทำงาน  ประเมินนิทรรศการโครงงาน  ประเมินการพูดนำเสนอนิทรรศการโครงงาน  ประเมินการเขียนแสดงความคิดเห็นต่อการทำโครงงานของกลุ่มเพื่อนและการสะท้อนความคิดต่อโครงงานตนเอง และประเมินผลงานการเขียนรายงานโครงงาน    เอกสารหลักสูตรได้รับการประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชียวชาญในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.76
  2.2  เอกสารประกอบหลักสูตร ซึ่งเป็นคู่มือการใช้หลักสูตร ประกอบด้วย ข้อแนะนำการนำหลักสูตรไปใช้ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ/แหล่งเรียนรู้ และเครื่องมือการวัดและประเมินผล  สำหรับแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดทำมีจำนวน 9 แผน ได้แก่ แผนการเรียนรู้ที่ 1 Course orientation  แผนการเรียนรู้ที่ 2 Overview what project work is  แผนการเรียนรู้ที่ 3 Finding group partner  แผนการเรียนรู้ที่ 4 Selecting a topic  แผนการเรียนรู้ที่ 5 Writing project outline  แผนการเรียนรู้ที่ 6 Presenting a project outline  แผนการเรียนรู้ที่ 7 Carrying out a project  แผนการเรียนรู้ที่ 8 Project work presentation แผนการเรียนรู้ที่ 9 Writing project work report ในแต่ละแผนการเรียนรู้ประกอบด้วยสาระสำคัญ ผลการเรียนรู้ เนื้อหาสาระ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ และแบบวัดผลประเมินผล การตรวจสอบคุณภาพเอกสารประกอบหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏว่า เอกสารประกอบหลักสูตรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.82
              3.  ผลการทดลองใช้หลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3
                   3.1  จากการนำหลักสูตรไปใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จำนวน 22 คน ผลการเปรียบเทียบคะแนนการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนปรากฏว่า นักเรียนมีคะแนนจากการสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อจำแนกเป็นทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนพบว่า ทุกทักษะนักเรียนมีทักษะภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
                   3.2  ผลการประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงาน ปรากฏว่า นักเรียนมีทักษะกระบวนการทำโครงงานอยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.19
                   3.3 ผลการศึกษาเจตคติของนักเรียนต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสรุปได้ว่านักเรียนมี  เจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.94
              4.   ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.90 ข้อมูลเชิงคุณภาพจากคำถามปลายเปิดสรุปได้ว่านักเรียนพึงพอใจโดยให้เหตุผลว่า นักเรียนได้มีโอกาสทำงานกับเพื่อน ได้ริเริ่มโครงงานด้วยตนเอง ได้ฝึกทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ได้ความรู้ในเรื่องที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ได้เรียนรู้ไปตามสภาพจริงในชีวิตประจำวันและสิ่งต่างๆรอบตัว ได้สื่อสาร ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนและได้พัฒนาคำศัพท์




อภิปรายผล

               การวิจัยเรื่องการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประเด็นการอภิปราย ดังนี้
             1.   ด้านการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการทำโครงงาน
                  ผลการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าผู้เชี่ยวชาญประเมินความเหมาะสมของหลักสูตรอยู่ในระดับมาก  และเมื่อนำไปใช้กับนักเรียนหลักสูตรสามารถส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะทางภาษาอังกฤษได้ดีในระดับหนึ่ง นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทำโครงงานในระดับดี และมีเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษในระดับมาก และเมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากเช่นกัน และนอกจากนี้นักเรียนมีความเห็นว่าหลักสูตรเปิดโอกาสให้ได้ทำงานกับกลุ่มเพื่อน ได้ร่วมคิดร่วมทำตามความสนใจ และเปิดโอกาสให้ได้นำความถนัดของนักเรียนมาใช้กับการเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ความสำเร็จของหลักสูตรดังกล่าวมา อาจเป็นผลมาจากแนวคิดสำคัญของหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย แนวคิดของการพัฒนาหลักสูตร และแนวคิดการเรียนรู้โดยกระบวนการทำโครงงาน  สำหรับแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร ผู้วิจัยดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของ โอลิวา หรือ The Oliva  Models (Henson, 2001, pp. 150-151) โดยนำมาประยุกต์กับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ประกอบด้วยการกำหนดความต้องการจำเป็นของหลักสูตร การวินิจฉัยความต้องการของผู้เรียน การกำหนดจุดหมาย การเลือกเนื้อหา การเรียงลำดับเนื้อหา การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้  การเรียงลำดับประสบการณ์การเรียนรู้ และการกำหนดรูปแบบการประเมินผลตามจุดมุ่งหมาย กำหนดยุทธศาสตร์สำหรับแผน ได้แก่ กำหนดวิธีการสอน กำหนดภาระงานหรือผลงานในหน่วยเรียน และการวางแผนเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของนักเรียน ขั้นนำหลักสูตรไปใช้ การนิเทศ กำกับ ติดตาม และขั้นประเมินผลหลักสูตรเพื่อศึกษาการบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้  เมื่อผู้วิจัยนำแนวคิดดังกล่าวมาผสมผสานกับกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานตามแนวคิดของ รามอน ไรบ์ และ นูเรีย ไวดอล (Ribe and Vidal,1993) โดยให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการข้อมูลจากทุกสาขาวิชาในการทำโครงงานซึ่งนอกจากผู้เรียนจะได้ความรู้จากโครงงานที่นักเรียนทำแล้ว ผู้เรียนยังจะได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษโดยกิจกรรมการเรียนการสอนขั้นตอนสำคัญในกระบวนการทำโครงงานประกอบด้วย การกำหนดหัวเรื่อง การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์การเรียนรู้  การวางแผนดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  การดำเนินกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และ เป็นไปตามศักยภาพของผู้เรียน  แนวทางการประเมินตนเอง  การพัฒนาชิ้นงานและการนำเสนอชิ้นงาน  โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ ภายใต้การแบ่งหน่วยเรียนซึ่งผู้วิจัยได้ออกแบบให้สอดคล้องกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน

2. ด้านผลการทดลองใช้หลักสูตร
2.1     การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
                           จากการเปรียบเทียบคะแนนการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนโดยแบบทดสอบทักษะทางภาษาอังกฤษด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นพบว่า นักเรียนมีคะแนนจากการสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  แสดงว่านักเรียนมีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษทั้งสี่ด้าน นอกจากนี้ จำนวนนักเรียนที่มีระดับทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีและดีมากเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่สนับสนุนความสำเร็จของการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษโดยกิจกรรมโครงงานภาษาอังกฤษ เช่น งานวิจัยของ Raof (2008 ) Icy (2008 ) และ Foss (2008)  การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการการเรียนรู้โดยการทำโครงงานที่เริ่มตั้งแต่ การเลือกหัวเรื่องที่นักเรียนได้เลือกในสิ่งที่สนใจซึ่งเป็นลักษณะของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered) การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาทักษะทางภาษา การวางแผนและการดำเนินกิจกรรมการทำโครงงาน การ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นชิ้นงานด้วยตนเอง ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ คำศัพท์ โครงสร้างประโยค และหน้าที่ของภาษา ไปพร้อมๆกับการทำภาระงาน ประเด็นที่น่าสนใจในการวิจัยครั้งนี้คือ การผลิตชิ้นงานที่นักเรียนเป็นผู้กำหนดเอง จะเป็นกลไกสำคัญให้นักเรียนพัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ ชิ้นงานของนักเรียนหากเกิดจากความถนัดหรือความสามารถ ตลอดจนความสนใจในเรื่องนั้นๆที่มีมาก่อน นำมาบูรณาการเข้ากับการพัฒนาทักษะทั้งสี่ทางภาษาอังกฤษ ก็จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาตนเองของนักเรียน ซึ่งจากการให้นักเรียนประเมินตนเองเกี่ยวกับการพัฒนาทางภาษาพบว่า นักเรียนทุกคนประเมินว่าระดับทักษะทางภาษาของตนเองมีการพัฒนาขึ้นในทุกทักษะ นอกจากนี้กระบวนการที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะทางภาษาได้ดีอีกประการหนึ่งคือการกำหนดภาระงานให้นักเรียนได้ดำเนินการได้แก่ การพัฒนาทักษะการพูดจากการนำเสนอร่างโครงงาน และพูดนำเสนอผลการดำเนินงานโครงงานในภาพรวม  การสร้างชิ้นงานที่มีการแสดงออกด้านการพูด การพัฒนาทักษะการฟังได้แก่ การฝึกทักษะฟังจากการนำเสนอจากของกลุ่มเพื่อน ชิ้นงานที่ต้องมีการฝึกฝนการฟัง  การพัฒนาทักษะการเขียนได้แก่ การเขียนโครงร่างโครงงาน การเขียนสรุปข้อมูล การจัดนิทรรศการ และการเขียนรายงานโครงงาน  การพัฒนาทักษะการอ่านได้แก่ การอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหัวเรื่อง การอ่านใบงานและใบความรู้ที่ครูกำหนด และการอ่านนิทรรศการจากกลุ่มเพื่อน ผลการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับการนำเสนอของ ฮัทชินสัน (Hutchinson, 1985) ที่กล่าวว่า การเรียนรู้แบบโครงงานบูรณาการระหว่างโลกของนักเรียน ทักษะทางภาษา และการสร้างความรู้ต่างๆได้ และสอดคล้องกับแนวคิดของ รามอน ไรบ์ และ นูเรีย ไวดอล (Ribe, Ramon and Vidal, Nuria.,1993) ซึ่งกล่าวว่า การเรียนรู้ทางภาษาเป็นกระบวนการพัฒนาที่ค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นในตัวนักเรียนตามวุฒิภาวะเริ่มจากความตระหนักในการเรียนเป็นต้นไป จึงค่อยๆพัฒนาจนบรรลุเป้าหมายสุดท้าย

2.2   ทักษะกระบวนการทำโครงงาน
                        จากการประเมินทักษะกระบวนการทำโครงงานของนักเรียน พบว่า มีระดับทักษะกระบวนการทำโครงงานอยู่ในระดับดี ทั้งนี้เพราะหลักสูตรฉบับนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองโดยการกำหนดหัวเรื่องที่สนใจ และบูรณาการความถนัดและความสนใจเชื่อมโยงสู่โลกแห่งความเป็นจริงในการเรียนรู้ เช่น หัวเรื่องที่นักเรียนสนใจเกี่ยวกับการทำอาหารไทยของกลุ่ม Smile Girls หัวข้อโครงงาน Thai Dessert: Red Ruby in Coconut Milk (Tub Tim Krob) เป็นการได้นำความรู้จากการทำอาหารมาบูรณาการกับการทำกิจกรรมทางภาษาอังกฤษโดยผ่านการนำเสนอชิ้นงาน นักเรียนบูรณาการความสามารถ ความรู้ ความถนัดที่มีมาก่อนคือการทำขนมไทยมาสู่การฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ   กลุ่ม Beloved หัวข้อโครงงานเรื่อง Dangerous Animal เป็นการเชื่อมโลกความสนใจของนักเรียนสู่โลกกว้างที่สนใจเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นอันตรายที่ไม่มีในประเทศไทย ได้แก่ Black Mamba Snake, Skunk และ แมงมุม Tarantulas ซึ่งจุดสนใจในเนื้อหาสาระของธรรมชาติ เป็นสิ่งดึงดูดใจนักเรียนให้แสวงหาความรู้โดยมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษาได้  กลุ่ม Fantastic World ในหัวข้อ Interesting Cities : Athen, Paris , Sydney and Chiang Mai ที่นักเรียนสนใจเมืองสำคัญในโลก นักเรียนในชนบทที่มีความใผ่ฝันจะไปเมืองใหญ่ๆเหล่านั้น นักเรียนจึงสืบค้น ศึกษาข้อมูลด้านต่างๆของเมืองสำคัญดังกล่าว นำมาเปรียบเทียบกับเมืองของตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่นำโลกกว้างมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงของนักเรียน  แนวการจัดหลักสูตรดังกล่าวมานี้ สอดคล้องกับการนำเสนอเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน (Project-based Learning) ของ Walter,Bethany (2005) ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานของนักเรียน และ สอดคล้องแนวคิดของ Thomas, John W.(2000) กล่าวถึงลักษณะของกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานไว้ว่า กระบวนการทำโครงงานเป็นกลไกสำคัญในหลักสูตร เน้นความสนใจของนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนได้ทำการสืบค้นและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง นักเรียนเรียนรู้ไปตามระดับความสามารถของตนเอง และสัมพันธ์กับชีวิตจริงไม่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น
            2.3 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ให้ผลทำนองเดียวกับ ผลการวิจัยของวารีรัตน์ แก้วอุไร และเทียมจันทร์ พานิชย์ผลินไชย (2552) ที่พบว่าผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจต่อการอบรมตามหลักสูตรอยู่ในระดับมาก           

ข้อเสนอแนะ

1.      ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
                        1.1  การพัฒนาหลักสูตร
                    กระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สามารถใช้กระบวนการสร้างหลักสูตรตามขั้นตอนในการวิจัยครั้งนี้ 12 ขั้นตอน นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามความเหมาะสม
                        1.2  การนำหลักสูตรไปใช้
                         การใช้หลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานเพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษกับนักเรียนที่มีความสนใจเลือกเรียน การกำหนดหัวเรื่องตามความถนัดและความสนใจ อาจมีการสำรวจความถนัดของนักเรียนและเสนอแนะในเลือกทำชิ้นงานที่นำเรียนสนใจ การทำงานกลุ่มที่นักเรียนได้เลือกเข้ากลุ่มเองด้วยความสมัครใจ การฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษครูควรช่วยเหลือ แนะนำ และหาแบบอย่างที่ดีให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะ โดยเฉพาะทักษะการพูด และการเขียน ครูควรให้เวลาแก่นักเรียนได้ฝึกฝน มีการประเมินด้วยตนเอง และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป การให้เวลานักเรียนครูควรมีความยืดหยุ่นในขณะเดียวกันก็มีกรอบเวลาเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนบรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนดไปพร้อมๆกัน 
     1.3  จากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า ในประเด็นการประเมินเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้นในการนำหลักสูตรไปใช้ควรมีการปรับปรุงผลการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาของผู้ใช้
                  1.4   จากผลการนำหลักสูตรไปใช้ในครั้งนี้พบว่า ความสามารถในการนำเสนอของนักเรียนยังอยู่ในระดับพอใช้ การนำหลักสูตรไปใช้ครูผู้สอนอาจเพิ่มเวลา หรือวิธีการฝึกฝนทักษะการนำเสนอที่เหมาะสมให้กับนักเรียนต่อไป

2.      ข้อเสนอแนะสำหรับการทำการวิจัยต่อไป         
                        2.1   ควรมีการวิจัยและพัฒนาการจัดทำหลักสูตรการจัดทำโครงงานภาษาอังกฤษ ผ่านเวปไซด์ให้กับนักเรียนในโรงเรียนต่างๆที่ยังไม่มีการเปิดสอนวิชาโครงงานภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองด้านทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยให้มีการดำเนินการในระยะยาวและมีการตรวจสอบพัฒนาการเป็นระยะๆ มีการเทียบโอนหน่วยการเรียนและนำเสนอผลงานร่วมกันในลักษณะของกลุ่มโรงเรียน
                  2.2   ควรมีการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนในทุกระดับชั้น มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางภาษาอันเกิดจากกระบวนการทำโครงงาน 
                  2.3   ควรมีการวิจัยและพัฒนาการจัดทำสื่อการเรียนรู้สำเร็จรูป สำหรับการเรียนรู้ได้ด้วยกระบวนการทำโครงงาน การทำหน่วยการเรียนรู้หรือศูนย์การเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าทำการศึกษาได้ด้วยตนเอง สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนสามารถเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาได้อย่างอิสระ และมาจากกลุ่มสาระต่างๆที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาอย่างรอบด้าน สามารถบูรณาการความรู้ได้อย่างเต็มที่ นักเรียนได้ศึกษาอย่างกว้างขวางในองค์ความรู้ต่างๆในยุคข้อมูลข่าวสาร หรือเรียนรู้ความเป็นสากล นักเรียนได้พัฒนาทฤษฏีความรู้ของตนเอง ฝึกฝนการเขียนรายงานโครงงานเพื่อนำไปสู่การเขียนเรียงความทางวิชาการชั้นสูง ไปพร้อมๆกับการได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์  การลงมือปฏิบัติ และการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและสังคม
                 2.4   ควรมีการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการความสามารถ ความถนัดและความสนใจของนักเรียนได้สอดแทรกไว้ในหน่วยการเรียนรู้ที่มีหัวเรื่องหลักต่างๆให้นักเรียนได้เรียนรู้อยู่แล้ว เพื่อพัฒนาเจาะลึกให้นักเรียนเกิดความรู้ และทักษะทางภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง

บรรณานุกรม

Foss, Patrick.  (2008).  Project-Based Learning Activities for Short-term Intensive
          English Programs.  Retrieved on June 9, 2008 from
Henson, Kenneth T.  (2001).   Curriculum Planning Integrating Multiculturalism,
          Constructivism  and  Education Reform(2nd Ed).  New York :McGraw Hill.

Hutchinson, Tom. (1985).  Introduction to Project Work. Oxford University Press.
Jurairat Sutroong (2004).  The Curriculum Development Emphasize on Project-Based
          Learning to enhance English Language Skills for Higher Secondary School
          Students.  Bangkok: Ph.d Dissertation in Instructional and Curriculum Development
           Chulalongkorn University.
Lake, Kathy. (2006).  Integrated Curriculum.  Retrieved on December 12, 2006
          from http:// www.nwrel.org/scpd/sirs/8/c016.html
Icy, Lee. (2008). Project Work Made in the English Classroom.
          Retrieved on July 12, 2008 from  http://eric.ed.gov/ERICWebPortal/custom/Portlets/
           recordDetails/detailmin.jbs?_nfpb=true_&ERICExtSearch_SearchValue_0
           =EJ661094&ExtSEarch_SearchType_0=no&accno=EJ661094
Pratt, David.  (1994).  Curriculum Planning: A Handbook for Professionals. 
            Florida: Harcourt Brace College Publishers.
Ribe, Ramon and Vidal, Nuria.  (1993).  Handbooks  for  the English Classroom. 
          Scotland :Thomson Litho .
Raof, A.H. Abdu (2008). ESP Project Work : Preparing Learner for the
          Workplace. Retrieved on September 10, 2008 from
Thomas, John W. (2000)  A Review of Research on Project-Based Learning.
          Retrieved on July 15, 2008 from http://autodest.com/foundation
Walter,Bethany.  (2005).  Winning With Art. Retrieved on 18 December 2009 from
Wareerat Kaewurai and Tiemchan Panitplinchai.  (2009).  The Development of Training
          Curriculum on Community Participation in Educational Management.  Academic
          Journal of Graduate School.   Rajapat Nakhonsawan University.  4th year.  May
          10th – August 2009   pp. 13-14













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น